Thursday, July 9, 2020

คอร์ดเพิ่มเติมของคีย์ C เมเจอร์

คอร์ดชุด 7th ในคีย์ C เมเจอร์

คอร์ดชุดต่อมาของคีย์ C เมเจอร์ ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ เกิดจากการที่เพิ่มโน้ตอีก 1 ตัวคือตัวที่ 4 เข้าไปในคอร์ด โดยที่โน้ต 3 ตัวแรกที่อธิบายไปในคราวที่แล้ว คือโน้ตตัวที่ 1, 3, 5 ส่วนในวันนี้ เราจะเพิ่มโน้ตเสียงที่ 7 เข้าไป

โครงสร้างคอร์ดที่ได้ในรอบนี้ ก็จะกลายเป็นรูปแบบ 1, 3, 5, 7 ซึ่งมีดังต่อไปนี้ครับ โดยที่ผมจะใช้ตัวอักษรสีน้ำเงินแทนเสียงราก (เสียงหลัก) ของคอร์ดนั้น ๆ เช่น คอร์ด Cmaj7 เสียงรากก็คือ C นะครับ

ส่วนตัวอักษรที่เป็นสีแดงนั้น ก็แทนโน้ตตัวที่ 7 หรือเสียงที่เน้นว่าเป็น 7th นั่นเอง เวลาเล่น ต้องพยายามอย่าให้เสียงทั้งสองนี้บอด หรือได้ยินไม่ชัดครับ
โดยที่คอร์ดในชุดนี้ คอร์ดแรกก็จะเริ่มต้นด้วยคอร์ด C นะครับ เมื่อเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 เข้าไป ซึ่งตามสเกล C เมเจอร์แล้ว โน้ตตัวที่ 7 ก็คือตัว B ก็ได้โน้ต C, E, G, B ซึ่งมีชื่อว่า Cmaj7 (อ่านว่า "ซีเมเจอร์เซเว่นท์" ไม่มีใครอ่านว่า "เจ็ด" นะครับ) ส่วนวิธีการจับบนคอกีตาร์ ก็ดูตามไดอะแกรมด้านบนที่ผมทำเอาไว้นะครับ โดยที่จากคอร์ด C ธรรมดา ๆ เราก็ยกนิ้วชี้ (นิ้วที่ 1) ขึ้นไป ก็จะได้โน้ตตัว B มาแล้วครับ
คอร์ดที่สองในชุดนี้ ก็จะเป็นคอร์ด Dm7 (อ่านว่า "ดีไมเนอร์เซเว่นท์") ซึ่งเกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 เข้าไป ซึ่งตามสเกล C เมเจอร์แล้ว โน้ตตัวที่ 7 ของ D ก็คือตัว C ก็ได้โน้ต D, A, F, C นั่นเอง สำหรับวิธีการจับนั้น ก็จะเป็นอย่างไดอะแกรมตามภาพด้านบน ซึ่งนิ้ว 1 (นิ้วชี้) นั้นจะกดทีเดียว 2 เส้นเลย หรือเส้นที่ 1 และเส้นที่ 2 จากนั้นนิ้วกลางก็จะกดในช่องที่ 2 ตามภาพ เวลาเล่น ก็ให้เล่นเพียงแค่ 4 เส้นเท่านั้น สายที่ 5 และสายที่ 6 ไม่ต้องเล่น เพราะว่าตัวโน้ตไม่ได้อยู่ในคอร์ด Dm7

สำหรับคอร์ด Dm7 หนังสือเพลงบางเล่ม หรือบางเว็บ จะเรียกคอร์ด Dm7 ว่าคอร์ด F on D หรือเขียนว่า F/D เนื่องจากว่าการจับนั้น เหมือนกับการจับคอร์ด F เพียงแต่เสียงเบสเวลาเล่น จะต้องเล่นเบสเป็นตัว D นั่นเอง และโน้ตต่าง ๆ ภายในคอร์ดนั้น เหมือนกันทั้งหมด
คอร์ดที่สามในชุดนี้ ก็จะเป็นคอร์ด Em7 (อ่านว่า "อีไมเนอร์เซเว่นท์") ซึ่งเกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 เข้าไป โน้ตตัวที่ 7 ของ E ก็คือตัว D ก็ได้โน้ต E, G, B, D นั่นเอง สำหรับวิธีการจับนั้น มีหลายวิธีมาก ถ้าเกิดหาจากกูเกิล บางแห่งก็จะกดตามไดอะแกรมด้านบนโดยการใช้นิ้วเดียว หรือนิ้วที่ 2 กดบนสายที่ 5 ซึ่งก็จะเสียงครบเช่นกัน แต่ที่ผมชอบเล่น จะชอบใช้นิ้วที่ 4 (นิ้วก้อย) กดเข้าไปบนสายที่ 2 ด้วย ซึ่งก็คือตัว D ซึ่งจะช่วยเน้นเสียงของคอร์ดไมเนอร์เซเว่นท์ให้เด่นชัดขึ้นครับ

อีกชื่อของคอร์ด Em7 ก็เช่นเดียวกัน หนังสือเพลงบางเล่มจะเรียกคอร์ด Em7 ว่าคอร์ด G on E หรือเขียนว่า G/E เนื่องจากว่าการจับนั้น เหมือนกับการจับคอร์ด G (คอร์ด G มีโน้ต G, B, D) ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับแบบที่ผมแนะนำไปในบทที่ 1 ซึ่งจริง ๆ จะใช้การจับแบบนั้นก็ได้ ซึ่งดูแล้วโน้ตต่าง ๆ ในคอร์ด Em7 ก็มีครบนะครับ ก็เพียงแค่จับคอร์ด G แต่ไม่ต้องกดสายบนสุดนั่นเอง

ส่วนเวลาเล่น เราจะเล่นเบสของคอร์ด E ซึ่งก็คือตัว E หรือสายบนสุด และโน้ตต่าง ๆ ภายในคอร์ดนั้น เหมือนกันทั้งหมดเลย 
คอร์ดที่สี่ในชุดนี้ ก็จะเป็นคอร์ด Fmaj7 (อ่านว่า "เอฟเมเจอร์เซเว่นท์") เกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 ของ F เข้าไป ก็คือตัว E ก็ได้โน้ตในคอร์ดคือ F, A, C, E นั่นเอง สำหรับวิธีการจับนั้นก็คล้าย ๆ คอร์ด F เฉยๆ เพียงแต่จะง่ายกว่า ก็คือนิ้ว 1 (นิ้วชี้) แทนที่จะต้องกดสายที่ 1 และสายที่ 2 พร้อมกันสองเส้นเลย ก็กดเพียงแค่สายที่ 2 เพียงเส้นเดียวเท่านั้น โอกาสที่มือใหม่จะเล่นคอร์ดนี้แล้วเสียงไม่บอด จึงง่ายกว่าการกดคอร์ด F เฉย ๆ มากเลยครับ
คอร์ดที่ห้าในชุดนี้ เป็นคอร์ดที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างมาก ก็คือ G Dominant 7th หรือที่เรียกว่า G7 เฉย ๆ (อ่านว่า "จีเซเว่นท์" ไม่ใช่ "จีเจ็ด" นะ) เกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 ของ G เข้าไป ก็คือตัว F ก็ได้โน้ตในคอร์ดคือ G, B, D, F ส่วนมากแล้วคอร์ด G Dominant 7th หรือ G7 นั้น เวลาเล่นแล้ว คอร์ดต่อไปส่วนมากจะกลับไปที่คอร์ดที่ 1 ในคีย์ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคอร์ด C นั่นเอง

สำหรับวิธีการจับนั้น ก็ตามไดอะแกรมด้านบนเลยครับ โดยที่เสียงรากก็คือเส้นบนสุด (G) ส่วนเสียงที่ 7 ก็คือเส้นล่างสุด ที่ใช้นิ้ว 1 ในการกด (F) ครับ
คอร์ดที่หกในชุดนี้ ก็จะเป็นคอร์ด Am7 (อ่านว่า "เอไมเนอร์เซเว่นท์") โดยเกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 เข้าไป ซึ่งตามสเกล C เมเจอร์แล้ว โน้ตตัวที่ 7 ของ A ก็คือตัว G ก็ได้โน้ต A, C, E, G นั่นเอง สำหรับวิธีการจับนั้น คล้าย ๆ กับ C เมเจอร์มาก ๆ เพียงแต่ไม่ต้องใช้นิ้วที่ 3 กดสายที่ 5 (เสียง C) ดังนั้นบางครั้ง เราจะเห็นว่ามีบางทฤษฎี จะเรียกคอร์ด Am7 ว่าคอร์ด C on A หรือบางแห่งเขียนว่า C/A
คอร์ดที่เจ็ด ซึ่งเป็นคอร์ดสุดท้ายในชุดนี้ เป็นคอร์ดที่ไม่ค่อยพบบ่อย คือคอร์ด Bm7b5 (อ่านว่า "บีไมเนอร์เซเว่นท์แฟลตไฟว์") ตามรากฐานแล้ว เกิดจากการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 เข้าไปเหมือนคอร์ดอื่นๆ  ที่กล่าวมาทั้งหมด

ลองนับไล่ดู ก็จะพบว่าโน้ตตัวที่ 7 ของ B ก็คือตัว A ดังนั้นคอร์ดนี้จึงประกอบด้วยโน้ต B, D, F, A โดยที่ไม่มีชาร์ป ไม่มีแฟลตอะไรเลยนะครับ แต่เหตุผลของการที่คอร์ดนี้มีชื่อแบบนี้ก็คือ เราต้องทราบก่อนว่า โครงสร้างของคอร์ดไมเนอร์นั้น เสียงที่ 1 และเสียงที่ 2 จะห่างกัน 1.5 เสียง, เสียงที่ 2 และเสียงที่ 3 ห่างกัน 2 เสียง, ดังนั้นคอร์ด Bm เฉยๆ จะมีโน้ต B, D, F# ส่วนคำว่า 7th ในชื่อคอร์ด หมายถึงเราเพิ่มโน้ตตัวที่ 4 คือโน้ตเสียงที่ 7 เข้าไปในคอร์ด

จริง ๆ แล้วคอร์ดหลักในลำดับที่ 7 ของคีย์ C นั้นก็คือ Bdim แต่เมื่อเราใส่โน้ตเสียงที่ 7 เข้าไปรูปแบบที่ได้นั้น เหมือนกับคอร์ด Bm7 (B, D, F#, A) ที่ใส่แฟลตในโน้ตตัวที่ 5 เพื่อทำให้ F# เปลี่ยนกลับมากลายเป็น F จึงเรียกว่า "แฟลตไฟว์"

คอร์ด m7b5 มีอีกชื่อหนึ่งว่า "ฮาล์ฟดิมินิช" ดังนั้นเวลาเราไปอ่านเจอจากที่อื่น ก็อย่างงกันนะครับ เรื่องของทฤษฎีดนตรี ถ้าจะให้เข้าใจละเอียดลึกซึ้งจริง ๆ มันละเอียดมาก ในที่นี้ผมขอแนะนำคร่าว ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนนะครับ

ความแตกต่างระหว่างคอร์ด ดิมินิช และ ฮาล์ฟดิมินิช ต่างกันในโน้ตตัวที่ 7 นั่นเอง โดยที่คอร์ดฮาล์ฟดิมินิช (m7b5) มีไมเนอร์เซเว่นท์ (m7) ก็คือคอร์ด m7 ที่โน้ตตัวที่ 5 ต้องลดลงมาครึ่งเสียง หรือแฟลตไฟว์นั่นเอง ส่งคอร์ดดิมินิชเฉย ๆ ก็มีโครงสร้างแบบนี้; เสียงที่ 1 และเสียงที่ 2 ห่างกัน 1.5 เสียง, เสียงที่ 2 และเสียงที่ 3 ห่างกัน 1.5 เสียง เท่านี้เอง


พบกันใหม่ในคราวหน้าครับ http://chord.suaythep.com


คอร์ดพื้นฐานในคีย์ C

คอร์ด (Chord) คือการเล่นโน้ตดนตรีตั้งแต่สามเสียงขึ้นไปพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นการเล่นบนเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม เช่น เล่นด้วยกีตาร์ เปียโน คีย์บอร์ด อีเล็กโทน หรือซินธิไซเซอร์เป็นต้น 

คอร์ดพื้นฐานในคีย์ C ซึ่งชื่อเต็ม ๆ มีชื่อว่าคีย์ C Major แต่นิยมเรียกกันว่า C เฉยๆ ก็เป็นอันรู้กันว่าคือ C เมเจอร์นั่นเอง

สำหรับคอร์ดพื้นฐานทั้ง 7 คอร์ดในคีย์ C เมเจอร์ มีดังนี้ C, Dm, Em, F, G, Am, Bdim โดยที่โน้ตทั้ง 3 ตัวที่นำมาประกอบเป็นคอร์ดหลักทั้ง 7 คอร์ดนี้ ไม่มีการใส่เครื่องหมายชาร์ป (#) และแฟล็ต () เลย ตัวโน้ตต่าง ๆ นำมาจากสเกล C เมเจอร์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า C Ionian หรือ Diatonic Scale หรือบางคนก็เรียกว่า เมเจอร์สเกล เฉยๆ
คอร์ดแรกคือ C ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ C, E, G สำหรับวิธีการจับบนคอกีตาร์ ให้ดูตามภาพด้านบน
คอร์ดที่ 2 ในคีย์ C ก็คือคอร์ด Dm ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ D, F, A
คอร์ดที่ 3 ในคีย์ C ก็คือคอร์ด Em ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ E, G, B
คอร์ดที่ 4 ในคีย์ C เมเจอร์ ก็คือคอร์ด F ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ F, A, C
คอร์ดที่ 5 ในคีย์ C เมเจอร์ ก็คือคอร์ด G ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ G, B, D
คอร์ดที่ 6 ในคีย์ C เมเจอร์ ก็คือคอร์ด Am ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ A, C, E โดยที่คอร์ดที่ 6 นี้ มีคุณสมบัติเป็นญาติกันกับคีย์ C Major ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Relative Key

พูดอีกอย่างก็คือ C กับ Am นั้นเป็นคอร์ดที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด คือคอร์ดทั้งสองนี้เป็น Relative (ญาติ) กัน เมื่อผมอธิบายในหัวข้อต่อ ๆ ไป จะมีการอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นหลายคอร์ดในคีย์ C กับคีย์ Am จึงมีหลายคอร์ดที่เหมือนกันและใช้ร่วมกัน
คอร์ดที่ 7 ในคีย์ C เมเจอร์ ก็คือคอร์ด Bdim (B Diminished) ซึ่งอ่านว่า "บี-ดิม" หรือ "บี-ดิมินิช" โดยที่ประกอบด้วยตัวโน้ตหลักคือ B, D, F ซึ่งปกติคอร์ดนี้จะไม่ค่อยพบบ่อย นาน ๆ มีการใช้ครั้งหนึ่ง แต่ว่าจำเป็นต้องรู้ไว้เป็นพื้นฐาน เพื่อที่จะได้เข้าใจโครงสร้างทฤษฎีดนตรีต่อไปได้นะครับ

เวลาเราเล่นคอร์ด Diminished เสียงมันจะออกแปลก ๆ นิดหน่อย ฟังแล้วไม่ค่อยจะคุ้นหูเท่าใดนัก เนื่องจากว่ามีคนเอามาใช้ในเพลงป๊อปที่เราฟังกันน้อยมาก ๆ จึงไม่ค่อยคุ้น แต่บางครั้งก็มีพบเหมือนกัน

สำหรับคีย์ C เมเจอร์ นั้นเป็นคีย์ที่ต้องเรียนรู้เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นคีย์ที่ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเล่นบนเครื่องดนตรีอะไร ไม่ว่าจะเป็น เปียโน กีตาร์ หรือเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ